สารจากประธานกรรมการ

สรุปภาวะการณ์ ปี 2563

ปี 2563 เป็นปีที่ท้าทายไม่เพียงเฉพาะประเทศไทย แต่เป็นทั้งเศรษฐกิจโลก นอกเหนือจากสถานการณ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ตรึงเครียดแล้ว เรายังได้เห็นเศรษฐกิจโลกและตลาดหลักทรัพย์ได้รับความเสียหายจากการระบาดใหญ่ของ COVID-19

ผลิตภัณฑ์มวลรวมของไทย (GDP) ปี 2563 หดตัวลงร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับการเติบโตร้อยละ 2.4 ในปี 2562 โดยมีสาเหตุมาจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงอย่างฉับพลัน เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลจักรขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ผลกระทบของการหายไปอย่างทันทีทันใดของการท่องเที่ยวได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาหารและครื่องดื่ม ธุรกิจการบิน และธุรกิจค้าปลีกรายย่อย และยังคงส่งผลกระทบครอบคลุมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์

ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจจะเผชิญกับการหดตัวและความเสี่ยงทางด้านขาลง แต่ตัวเลขการหดตัวของ GDP ปี 2563 ต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ทั้งๆ ที่หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจโลกเข้าสู่การปิดเมืองเต็มรูปแบบในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 แต่จากการที่รัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีการประกาศใช้มาตรการการคลังเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ธนาคารกลางขนาดใหญ่ของโลกยังคงดำเนินนโยบายผ่อนปรนมาตรการทางการเงินออกมาเพื่อรองรับผลกระทบของ COVID-19

ภาพรวมสำหรับปี 2564

UOB Global Economics & Markets Research (GEMR) คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมปี 2564 จะเติบโตที่ร้อยละ 6 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากสถานการณ์ระบาด เพื่อเป็นการสนับสนุนการฟื้นตัวดังกล่าว รัฐบาลได้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่สำหรับภาคธุรกิจและช่วยเหลือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย และภาครัฐยังพร้อมที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็น

ถึงกระนั้น เรามองเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงทางขาลง เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงมีความไม่แน่นอนสูง และมีความไม่มั่นคงท่ามกลางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างช้าๆ ขณะที่การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ภายในประเทศ จะเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน อันเนื่องมาจากมาตรการควบคุมการระบาดที่ค่อนข้างเข้มงวด และความเสี่ยงที่เกิดจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจจะล่าช้าออกไป

ถึงแม้การฟื้นตัวอาจจะล่าช้าจากปัจจัยหลายประการข้างต้น เราหวังว่าความคืบหน้าอย่างเหนือความคาดหมายของการจัดซื้อวัคซีนโดยรัฐบาล และการฉีดวัคซีนตามแผนจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และการเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ

เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปี 2564 ถึงแม้มีประเด็นเกี่ยวกับการรับมือการแข็งค่าของเงินบาท แต่ธนาคารแห่งประเทศไทยตัดสินใจใช้แนวทางผ่อนคลายการควบคุมเงินทุนไหลออกมากกว่าการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะตรวจสอบถึงที่มาของเงินลงทุนที่ไหลเข้าตลาดพันธบัตรมากขึ้น ซึ่งปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลดีต่อหุ้นไทย เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศอาจพิจารณาใช้ตราสารทุนเป็นตัวกลางในการถือลงทุนหรือเก็งกำไรเงินบาทแทน จากเดิมที่นิยมใช้ตลาดพันธบัตร

สรุปสถานการณ์ตลาดทุนปี 2563

ดัชนีหลักทรัพย์ไทย (SET Index) เผชิญความผันผวนอย่างมากในปี 2563 เริ่มต้นด้วยการปรับลดลงถึงร้อยละ 28.74 ในช่วงไตรมาสแรก จากผลกระทบการระบาดของ COVID-19 ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นร้อยละ 28.73 ในอีก 9 เดือนต่อมา และสิ้นสุดปีด้วยผลตอบแทนที่ปรับลดลงจากปีก่อนหน้าที่ร้อยละ 8.26

หากพิจารณาจากผลตอบแทนเป็นรายอุตสาหกรรม กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่สุด 5 กลุ่ม ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 379.1), เกษตร (ร้อยละ 61.5), บรรจุภัณฑ์ (ร้อยละ 44.0), กระดาษและสิ่งพิมพ์ (ร้อยละ 19.0) และเหล็ก (ร้อยละ 19.0) ซึ่งจะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะเบียนขนาดกลาง-เล็กที่ได้รับประโยชน์จากอุปสงค์นอกประเทศ ขณะที่กลุ่มที่ให้ผลตอบแทนแย่สุด ได้แก่ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) (ติดลบร้อยละ 26.5), ธนาคาร (ติดลบร้อยละ 24.0), ท่องเที่ยว (ติดลบร้อยละ 19) สื่อสาร (ติดลบร้อยละ 18.5) และขนส่ง (ติดลบร้อยละ 18.4)

นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยอย่างหนักและต่อเนื่อง ก่อนที่จะกลับมาเป็นฝ่ายซื้อสุทธิในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2563 อย่างไรก็ตามภาพรวมทั้งปี นักลงทุนต่างชาติยังคงมีสถานะขายสุทธิที่ 8.29 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นยอดขายสุทธิที่สูงกว่าปี 2562 ที่ 1.49 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ถึง 5 เท่า

ผลการดำเนินงานสำหรับปี 2563

ความผันผวนในตลาดหุ้นที่เกิดจากโรคระบาดส่งผลดีต่อธุรกิจของเรา มูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจาก 609,985 ล้านบาท ในปี 2562 เป็น 875,024 ล้านบาท ในปี 2563 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจาก 15,925,914 บาท ในปี 2562 เป็น 239,646,211 บาท ในปี 2563 ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกับมูลค่าซื้อขาย และตามนโยบายในการจ่ายเงินปันผลของบริษัทฯ เท่ากับอัตราร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิหลังหักภาษี บริษัทฯ พิจารณาเสนอการจ่ายเงินปันผลจำนวน 0.10 บาทต่อหุ้น สำหรับรอบปีบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 เพื่อให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นพิจารณาอนุมัติต่อไป

แนวโน้มตลาดทุนปี 2564

เรามีมุมมองเชิงบวกต่อภาพการลงทุนปี 2564 เนื่องมาจาก 1) การเปิดตัวของวัคซีน และการทำให้ธุรกิจและกิจกรรมการเดินทางกลับมาปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไป 2) การฟื้นตัวของผลประกอบการและภาพรวมธุรกิจในเชิงบวก 3) นโยบายทางการเงินของรัฐบาลที่รองรับสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจ

เราคาดว่าจะเห็นความเคลื่อนไหวของมูลค่าซื้อขายที่เติบโตในปี 2564

รูปแบบการลงทุนของเราสำหรับปี 2564 มุ่งเน้นไปที่ 1) กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เช่น กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี 2) กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อหุ้นส่งออก อาทิ กลุ่มอาหาร 3) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการโยกย้ายฐานการผลิตออกจากจีน ส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และ 4) กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศ สามารถเดินทางเข้าประเทศได้อีกครั้ง

คำขอบคุณ

สุดท้ายนี้ในนามของคณะกรรมการ ขอขอบคุณผู้ถือหุ้นและลูกค้าสำหรับความไว้วางใจและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และขอขอบคุณสำหรับความทุ่มเทและการมีส่วนร่วมของคณะผู้บริหารและเพื่อนร่วมงานของเรา

เราหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากทุกท่าน

นาย ตัน เช็ค เต็ค

ประธานคณะกรรมการ
บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

UTRADE Newsletter