ทำความรู้จักกับตราสารหนี้

ตราสารหนี้ คืออะไร

ตราสารหนี้ คือ ตราสารทางการเงินประเภทหนึ่งที่บุคคลฝ่ายหนึ่งได้ผูกพันตนเองเป็นลูกหนี้ (ผู้กู้หรือผู้ออกตราสารหนึ่ง ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Issuer) มีภาระหน้าที่ในการจ่ายกระแสเงินสด (ได้แก่ ดอกเบี้ย และมูลค่าไถ่ถอน) ให้แก่เจ้าหนี้ (ผู้ให้กู้หรือ นักลงทุนในตราสารหนี้) การลงทุนในตราสารหนี้นั้น นับเป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่งสำหรับนักลงทุนทั่วไป ซึ่งกระแสเงินสด (Cash Flow) ที่นักลงทุนจะได้รับจากการถือครองตราสารหนี้ก็คือ ดอกเบี้ย (Coupon) ซึ่งมักจะได้รับสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น ทุก 3 เดือน หรือทุกปีตามที่ได้มีการกำหนดการจ่ายดอกเบี้ยไว้ตั้งแต่ต้น ดังนั้น อาจจะกล่าวได้ว่า นักลงทุนในตราสารหนี้ แบกรับความเสี่ยงไม่มากนักหากเทียบกับการลงทุนในทางเลือกอื่นที่ขาดความสม่ำเสมอในกระแสเงินสดที่นักลงทุนจะได้รับ เราจึงอาจจะเรียก ตราสารหนี้ว่า “ตราสารที่ให้รายได้คงที่” (Fixed Income Instrument) ด้วยคุณลักษณะที่ได้กล่าวมาแล้ว ข้างต้น

เป็นการลงทุนแบบการออม

ตราสารหนี้ นับเป็นหลักทรัพ์ที่มีลักษณะที่เหมาะสมกับการลงทุน โดยเฉพาะในกรณีที่นักลงทุนกังวลกับความเสี่ยงที่ต้องแบกรับ เพราะการถือตราสารหนี้นั้นจะทำให้นักลงทุนได้รับกระแสเงินสดที่มีความสม่ำเสมอ ทั้งในแง่ของจำนวนและระยะเวลาที่ได้รับ ทำให้นักลงทุนสามารถที่จะวางแผนการเงินของตนเองได้ง่ายขึ้น

กระจายความเสี่ยงของ Portfolio

การกระจายความเสี่ยง จากการลงทุนในตราสารหนี้ เป็นอีกประเด็นที่เป็นคุณประโยชน์อีกอย่างหนึ่งที่นักลงทุนจะได้รับ เพราะการเคลื่อนไหวของราคาตราสารหนี้ ตลอดจนผลตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนในตราสารหนี้ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลตอบแทนที่เกิดจากการลงทุนทางเลือกอื่น เช่นการลงทุนในหุ้นสามัญ ซึ่งทำให้นักลงทุนเกิดประโยชน์ในการบริหารการลงทุนของตนเองในแง่มุมของการกระจายความเสี่ยง (Diversification) และจะมีผลให้นักลงทุนสามารถบริหารกลุ่มสินทรัพย์ (Portfolio) ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะนักลงทุนจะแบกรับความเสี่ยงน้อยลง ในขณะที่ผลตอบแทนของกลุ่มสินทรัพย์ (Portfolio) ที่มีส่วนประกอบของตราสารหนี้อยู่ด้วยไม่ได้ลดลงมากนัก

มีลำดับสิทธิสูงกว่าหุ้นสามัญ

ด้วยเหตุที่นักลงทุนในตราสารหนี้อยู่ในสถานะเจ้าหนี้ของผู้ออก ในขณะที่นักลงทุนในหุ้นสามัญอยู่ในสถานะเจ้าของกิจการที่ออกตราสาร หากพิจารณาถึงเรื่องลำดับสิทธิในการเรียกร้อง (Priority Claim) จะพบว่าเจ้าหนี้มีลำดับสิทธิในการเรียกร้องต่อบริษัทผู้ออกตราสาร สูงกว่าเจ้าของกิจการในทุกกรณี กล่าวคือ ในยามที่บริษัทผู้ออกดำเนินกิจการตามปรกติผลกำไรที่เกิดขึ้นนั้นไม่ว่าจะมีกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) มากหรือน้อย หรือแม้กระทั่งประสบภาวะขาดทุน บริษัทผู้ออกก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ก่อนที่จะจ่ายเงินปันผลให้กับเจ้าของ (ซึ่งอาจจะได้รับเงินปันผลหรือไม่ได้รับก็ได้) และหากมีการเลิกกิจการเกิดขึ้น บริษัทผู้ออกตราสารก็ต้องนำเงินที่ได้จากการขายสินทรัพย์มาจ่ายให้กับเจ้าหนี้เต็มจำนวน หากมีเหลือจึงจะนำไปเฉลี่ยคืนให?กับเจ้าของผู้ถือหุ้นสามัญ เห็นได้ว่าการลงทุนในตราสารหนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญทุกกรณี

การแบ่งประเภทตราสารหนี้

1. แบ่งตามอายุของตราสารหนี้ ได้แก่ ตราสารหนี้ที่มีอายุสั้น กลาง และยาว
2. แบ่งตามลักษณะของการจ่ายดอกเบี้ย เช่น ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราคงที่ ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยในอัตราลอยตัว ตราสารหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยทบต้น หรือตราสารหนี้ที่ไม่จ่ายดอกเบี้ย เป็นต้น
3. แบ่งตามลักษณะการออกใบตราสาร ได้แก่ 3.1 ชนิดมีใบตราสาร (Scrip) เป็นตราสารหนี้ที่มีการออกใบตราสารซึ่งระบุชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์ไว้ให้ครอบครอง
3.2 ชนิดไร้ใบตราสาร (Scripless) เป็นตราสารหนี้ที่บันทึกกรรมสิทธิ์ไว้ในบัญชีของศูนย์รับฝากหลักทรัพย์โดยไม่มีการออกใบตราสาร
4. แบ่งตามประเภทของผู้ออกตราสารหนี้ ได้แก่่
4.1 ตราสารหนี้ภาคเอกชน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน ซึ่งอยู่ในการควบคุมดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เช่น ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือหุ้นกู้ เป็นต้น
4.2 ตราสารหนี้ภาครัฐ หมายถึง ตราสารหนี้ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานภาครัฐ ออกจำหน่ายเพื่อระดมทุนในประเทศจากประชาชนและสถาบันการเงิน
5.แบ่งตามสิทธิการเรียกร้อง ได้แก่ หุ้นกู้ด้อยสิทธิ และ หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ซึ่งหุ้นกู้ด้อยสิทธิจะมีสิทธิเรียกร้องต่อบริษัทเป็นลำดับท้ายๆในกลุ่มหุ้นกู้ด้วยกันในกรณีที่บริษัทปิดกิจการลง แต่มักให้ดอกเบี้ยสูงมาก
6.แบ่งตามการใช้สินทรัพย์ค้ำประกัน ได้แก่ หุ้นกู้มีหลักประกัน และหุ้นกู้ไม่มีหลักประกัน โดยที่หุ้นกู้มีหลักประกันจะเป็นหุ้นกู้ที่มีสถาบันการเงิน หรือ บริษัทอื่นที่มั่นคงกว่ามาค้ำประกันหนี้สินให้ หรือ บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ อาจยินยอมให้เอาทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน ,ตัวโรงงาน มาค้ำประกันหนี้สิน

-
-

UTRADE Newsletter